"อย่าดื้อ เดี๋ยวหมอฉีดยา"
"อย่าร้องไห้นะ เดี๋ยวหมอตี"
คำพูดเหล่านี้ หมอได้ยินทุกวันเวลาผู้ปกครองพาเด็กเข้ามาตรวจกับหมอ บางครั้งขู่กันตั้งแต่อยู่หน้าห้องตรวจ
ถ้าคุณเป็นเจ้าตัวเล็กที่รอตรวจอยู่ คิดว่าจะหยุดร้อง หยุดซนไหมคะ ก็คนที่หนูกำลังจะเข้าไปหาดุเหมือนยักษ์ ตั้งท่าจะตี จะฉีดยาหนูอยู่ ส่วนใหญ่ที่เห็น เด็กๆจะร้องหนักกว่าเดิม เข้ามาเห็นหน้าหมอยังไม่ทันได้ทำความคุ้นเคยก็ร้องอย่างเดียว มือชี้ไปที่ประตู พูดว่ากลับบ้านๆ จนหมอไม่เป็นอันตรวจ
แล้วจริงๆ วิธีที่ถูกต้อง ที่จะทำให้เด็กไม่กลัวและคุ้นเคยกับการมาหาหมอต้องทำอย่างไร
ข้อแรก ก่อนมาโรงพยาบาล เด็กควรได้รู้ล่วงหน้าก่อนว่าจะต้องไป ไม่ใช่ถูกพ่อแม่หลอก บอกว่าจะพาไปเที่ยว แล้วสุดท้ายเลี้ยวรถเข้าโรงพยาบาล ถูกฉีดยา คุณควรบอกลูกตามความเป็นจริง และ เล่าคร่าวๆ ว่าลูกจะต้องเจออะไรบ้าง เป็นการเตรียมตัวเตรียมใจให้เด็ก เช่น คุณพาลูกมาฉีดวัคซีน ก็บอกเค้าว่าวันนี้เราจะไปตรวจสุขภาพกับคุณหมอที่โรงพยาบาลกัน อาจยังไม่จำเป็นต้องบอกว่าจะถูกฉีดยา เพราะจะทำให้เด็กกังวลมากเกินไป แต่ถ้าเด็กถามว่าหนูต้องถูกฉีดยาไหม พ่อแม่ก็ไม่ควรโกหก ควรบอกเด็กว่าคุณหมอจะตรวจหนูดูก่อนว่าจำเป็นต้องฉีดยาไหม ถ้าหากต้องฉีดยาแล้วหนูร่วมมือดีก็จะเจ็บไม่มาก แป๊บเดียวก็หาย และจะทำให้หนูมีร่างกายแข็งแรง และอาจให้รางวัลถ้าเด็กทำได้ดี การให้รางวัล ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของเสมอไป เพียงแค่สายตาชื่นชมของคุณพ่อคุณแม่ อ้อมกอดอุ่นๆ ก็เป็นรางวัลสำหรับหนูแล้ว ในทางตรงข้ามหากพ่อแม่เลือกที่จะโกหกลูกว่าไม่ได้ไปหาหมอ ไม่ได้ฉีดยา แล้วสุดท้ายลูกถูกฉีดยา ลูกจะหมดความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวพ่อแม่ ครั้งต่อไปที่จะต้องมาโรงพยาบาลอีก ก็จะมีความยากลำบากแสนสาหัสเลยทีเดียว...
ข้อสอง ซักซ้อมกับลูกว่า เมื่อไปถึงโรงพยาบาลคุณหมอจะตรวจร่างกายหนู ต้องสัมผัสตัวหนู และเอาเครื่องมือ หรือหูฟังแตะตัวหนู (อาจแสดงท่าทางประกอบให้ลูกดู) คุณหมออาจต้องให้หนูอ้าปากกว้างๆ เพื่อตรวจคอ ตรวจฟัน เป็นต้น
ข้อสาม การเล่นสมมติกับลูกเป็นหมอกับคนไข้ จะทำให้ลูกคุ้นเคย และทราบขั้นตอนไปพร้อมกัน อาจมีของเล่นที่เป็นอุปกรณ์ทำเลียนแบบเครื่องมือแพทย์ ให้เด็กเล่นด้วย ก็จะยิ่งทำให้เด็กเข้าใจได้ง่ายขึ้น
ข้อสี่ การเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ที่ดีเวลาที่คุณไปพบหมอ ให้ลูกฟัง หรือการเล่านิทาน ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเจ็บป่วยในเด็ก หรือการไปหาหมอ ก็จะทำให้เด็กเข้าใจ และลดความกังวลเวลาที่จะต้องไปพบแพทย์
ข้อห้า หลีกเลี่ยงคำพูดที่เป็นการขู่เด็ก หรือให้เด็กรู้สึกว่า การมาพบหมอเป็นการถูกลงโทษ เช่นคำพูดดังกล่าวข้างต้น เด็กจะรู้สึกว่าเพราะดื้อจึงถูกหมอฉีดยา ถ้าร้องไห้หรือซนจะถูกหมอตีจริงๆ
ลองทำดูนะคะ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นเด็กขี้กังวล การเตรียมตัวลูกที่ดีจะทำให้ปัญหาน้อยลงจริงๆ ค่ะ ถ้าลูกมีความคุ้นเคยกับการไปพบแพทย์ ให้ความร่วมมือไม่ร้องงอแงระหว่างตรวจร่างกาย ก็จะทำให้การตรวจรักษาของแพทย์ทำได้ง่ายขึ้น
แต่ต้องสังเกตดูด้วยนะคะว่า เด็กบางคน ไม่ต้องเตรียมนาน เพราะยิ่งคุณแม่เตรียมตัวให้มาก เด็กก็จะยิ่งกังวลมาก ถ้าเป็นแบบนี้ก็บอกเด็กสั้นๆเช้านั้นเลย ก็อาจจะลดความเครียดลงได้
แต่ถ้าคุณพยายามทำแล้วยังไม่สำเร็จ ก็อย่าได้กังวลโดยเฉพาะเด็กอายุ 1-3 ปี เนื่องจากเด็กวัยนี้เป็นวัยที่กลัวคนแปลกหน้า และวิตกกังวลกับการแยกจากพ่อแม่อยู่แล้ว และก็จะมีเด็กบางกลุ่มที่มีนิสัยคุ้นเคยกับคนยาก และปรับตัวช้า ก็อาจจะยังร้องไห้อยู่ แต่ส่วนใหญ่แล้วคุณหมอเด็กทุกคนจะคุ้นเคยกับเด็กที่ร้องไห้เวลาตรวจรักษาอยู่แล้วค่ะ
หมอชุลีพร
*** ขอขอบคุณ ภาพประกอบ จาก freepik.com
หมอชุลีพร
วันพุธที่ 22 สิงหาคม 2561 เวลา 16:00 น. —