ทำไมต้องเล่น พ่อแม่นอกจากมีหน้าที่ในการปกป้อง เลี้ยงดู อบรมสั่งสอน เด็กแล้ว ยังเป็นผู้ที่ส่งเสริมให้เด็กเข้าโรงเรียนเพื่อศึกษาหาความรู้ ให้อ่านออกเขียนได้ต่อไป เอ๊ะ? แต่พอเด็กเข้าโรงเรียนแล้ว ทำไมพ่อแม่ถึงมองว่าการเรียนสำคัญกว่าการเล่นไปได้เนี่ย ทั้งที่จริงๆแล้ว การเล่นเป็นวิธีการเรียนรู้ของเด็กนั่นเอง เป็นวิธีทำให้เด็กรับรู้ความเป็นไปของสิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็นการทำให้สมองของเด็กมีการเติบโตตามประสบการณ์ที่เด็กได้รับ
การเล่นต่างจากการเรียน ยังไงเหรอ? การเล่นไม่ต้องสอน และมีความหลากหลายมากแล้วแต่เด็กจะคิด การเล่นมักจะสนุก, มีกระบวนการของการเล่นอยู่แต่ไม่ได้มีเป้าหมายอะไรชัดเจนมาก
นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งได้กล่าวว่า ความรู้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงจากสิ่งของที่เล่น หรือ จากตัวเด็ก แต่เกิดจากสิ่งที่เด็กทำกับสิ่งของนั้นๆ
จริงๆ การเล่นคือการเรียนอย่างหนึ่ง ทำให้เด็กได้คิดและฝึกทักษะด้านต่างๆ เช่น การเล่นบล็อกไม้ เล่นปั้นแป้งโดว์ แต่งตัวเป็นคุณแม่คุณพ่อ หรือวาดรูประบายสี ต่อจิ๊กซอว์
จะเห็นว่าตัวอย่างการเล่นเหล่านี้ เด็กได้ใช้จินตนาการของตนเอง ฝึกการใช้มือประสานสายตา การควบคุมกล้ามเนื้อ การคำนวณ วิทยาศาสตร์ ภาษา
การอ่านนิทานเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่ง คือ ทำให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น และเราสามารถเริ่มอ่านนิทานให้เด็กฟังได้ตั้งแต่เขายังเล็กๆ
การเล่นเองเปรียบเหมือนการสื่อสารของเด็กในขณะที่ภาษาพูดยังไม่เจริญเต็มที่ เห็นได้ชัดเจนจากการเล่นแบบสมมติในเด็กเล็ก การเล่นแบบนี้เด็กสามารถเป็นอะไรก็ได้และจะได้จัดการกับปัญหาทางอารมณ์ของเด็กเองด้วย เช่น การมีน้องใหม่ คล้ายๆว่าเขามีโลกของตนเองที่สามารถควบคุมได้ พัฒนาทักษะทางสังคมของตัวเองได้
พ่อแม่เองแค่คุณได้สังเกตการเล่นของเขาก็จะได้รับรู้เรื่องราวที่เขาไม่สามารถถ่ายทอดได้ แต่มักไม่เป็นเช่นนั้น เราจะเห็นว่าพ่อแม่หลายท่านไม่สามารถทนดูลูกนั่งเล่นโดยไม่เข้าไปแทรกแซงได้ จริงหรือไม่ สิ่งที่ตามมาคือ ไม่สนุกสุดๆเพราะถูกใจเด็ก ก็ทะเลาะกันไปเลยเพราะเด็กรู้สึกตนเองถูกชี้นำ ไม่สามารถทำเองได้หรือหมดความมั่นใจไปเลยก็มี ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ค่ะ เริ่มต้นเลย “สังเกต” ก่อนก็พอค่ะ การเล่น ไม่ใช่การเรียนหนังสือ ดังนั้นเด็กเล็กๆก็เล่นได้แล้ว ในโลกที่เติบโตด้านวัตถุขึ้นทุกๆวัน พ่อแม่ส่วนใหญ่เฝ้าแต่ถามว่าเมื่อไรลูกจะอ่านออกเขียนได้ ในความเห็นขอบกุมารแพทย์หลายๆท่านที่ทำงานด้านพัฒนาการเด็ก ต้องบอกว่า เมื่อเด็กพร้อมหรือต้องการจะเรียนรู้จริงๆ ไม่ได้ขึ้นกับเวลาหรืออายุของเด็ก ลองดูสิ ถ้าคุณฝึกให้เด็กอ่านเขียน เขาก็ต้องทำได้แต่มันจะกลายเป็นผลเสีย หรือเปล่า?
เคยมีการศึกษาหนึ่งในต่างประเทศ เอาเด็ก 3 ขวบมาฝึกอ่านเยอะๆ แน่นอน ผู้ใหญ่ชอบ ทั้งๆที่เด็กเองก็ไม่รู้หรอกว่ากำลังอ่านอะไรอยู่ โตไปเหมือนจะเก่ง แต่เก่งแบบผู้ใหญ่ขีดเส้นให้ เด็กไม่ได้เรียนรู้การอยู่กับเพื่อน ไม่ได้คิดเองหรือมีจินตนาการด้วยตนเองจริงๆ โตมาเข้าก็จะรู้ว่า อ้าว? มีคนเก่งกว่าเราอีกเยอะหรือเนี่ย เศร้าใจ ผิดหวัง ตามมา
ดังนั้น ดีที่สุดสำหรับเด็ก คือ เรียนรู้ด้วยตนเอง ในสิ่งที่ตนเองอยากเรียนรู้ การเล่นก็เป็นทางออกหนึ่งยังไงหละ ทำไม?
เพราะการเล่นทำให้เด็กรู้สึกว่า นี่ไงผลงานของชั้น เอ? แล้วทำไมเล่นแบบนี้ถึงไม่ได้ต้องเปลี่ยนวิธีหรือเปล่า หงุดหงิดจังทำไมแก้ปัญหาไม่ออก ความหงุดหงิดข้องใจนี้แหละ ทำให้เด็กอยากลองแก้ปัญหาด้วยตนเองและวิธีใหม่ที่คิดเอง ไม่ใช่มีผู้ใหญ่ป้อนให้ ขั้นตอนนี้แหละ ยาก คุณทนได้ไหมที่จะเห็นลูกของคุณลองผิดลองถูกเอง ลูกต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมด้วยวิธีของเขา แต่แน่นอนละ โดยมีพ่อแม่ที่คอยดูอยู่ห่างๆ คอยชื่นชม ให้กำลังใจและเป็นต้นแบบที่ดี
ปฐมวัยหรือวัยอนุบาล มีเรื่องต้องเรียนรู้เยอะ คือ เรียนรู้การอยู่ในสังคม เรียนรู้การจัดการกับความโกรธ ที่สำคัญที่สุด คือ เด็กวัยนี้ต้องได้รับความรู้สึกว่าตนเองสำคัญ และ มีคนที่รักเขา!
ของแถม มีบทความจากสมาคมกุมารแพท์ประเทศสหรัฐอเมริกา พูดถึงเด็กยุคนี้ ดังนี้ พ่อแม่ยุคใหม่มักอัดโปรแกรมต่างๆให้ลูก ทั้งวีดีโอเสริมพัฒนาการ, กิจกรรมต่างๆในศูนย์พัฒนาการเด็กทั้งหลาย ฯลฯ การเล่นอิสระแบบสมัยก่อนแทบจะหายไปแล้ว หลายการศึกษาได้ยืนยันแล้วว่าการเล่นแบบอิสระนั้นมีข้อดีมากมาย ทำให้เด็กมีจินตนาการ พบสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ เรียนรู้การแก้ปัญหา
วันอังคารที่ 31 สิงหาคม 2553 เวลา 12:30 น. —