จากการศึกษาในต่างประเทศ พบแล้วว่า การที่เด็กเล็กถูกทารุณกรรม ไม่ว่าจะทางกายหรือจิตใจ ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาทั้งส่วนโครงสร้างและการทำงานของสมอง เด็กหลายรายต้องกลายเป็นผู้ใหญที่มีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล เป็นบาดแผลที่อยู่ติดตัวไปตลอด สมองเกิดอะไรขึ้น?
รูปที่ 1 ภาพการแบ่งสมองเป็น 3 ส่วนตามการทำงานหลัก (www.healingtheinsidechild.com/)
เด็กที่ถูกทารุณกรรม สมองจะถูกกระทบไปด้วย และส่วนที่มีผลมาก คือ limbic เพราะจะถูกกระตุ้นทำให้ทำงานมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ส่วนของ neo-cortex จะถูกกด เช่น บริเวณที่เกี่ยวข้องกับการพูด ดังนั้นจะเห็นว่าทำไมเด็กที่ถูกทารุณกรรมบางราย ไม่สามารถบอกหรือเล่าได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตนเอง นอกจากส่วนโครงสร้างของสมอง ยังมีเรื่องของการหลั่งฮอร์โมนที่ผิดปกติด้วย นั่นคือ เพิ่มการหลั่งของฮอร์โมนคอติซอลหรือที่เรียกว่า ฮอร์โมนความเครียด ทำให้กดภูมิคุ้มกัน ร่างกายอ่อนแอลง แต่เมื่อโดนกระทำนานๆเข้า การทำงานของสมองจะผิดปกติในทางย้อนกลับ คือ ไม่มีการหลั่งคอติซอลตามปกติ เพราะร่างกายรับรู้ว่ามีอยู่เยอะแล้ว ดังนั้น หากมีเหตุการณ์ร้ายๆเกิดขึ้นกับเด็กอีก เขาจะกลายเป็นเด็กที่ไม่กลัวอะไร สามารถทำเรื่องรุนแรงได้ หรือไม่ก็จัดการปัญหาโดยใช้อารมณ์เพราะการทำงานของสมองส่วน neo-cortex หรือความเป็นเหตุเป็นผลถูกกดมานาน
ความผุกพันต่อคนอื่นก็ถูกกระทบ
เด็กเล็ก โดยเฉพาะช่วง 2 ปีแรก กำลังสร้างความเป็นตัวเองและความผูกพันกับผู้เลี้ยงดู แต่ถ้าเขาถูกทำร้าย หรือทำให้รู้สึกว่า ตัวเองไม่ได้ถูกรัก หรือไม่มีค่าพอ เด็กก็จะไม่สามารถรักหรือสร้างความผูกพันกับผู้อื่นได้
เด็กแบบนี้จะเป็นอย่างไร
1. มีปฏิกิริยาต่อความเครียด หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิตมากผิดปกติ เช่น ก้าวร้าว ทำลายของ
2. ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้
3. มีอาการพึ่งพาหรือติดคนอื่นมากไป หรือกลับกัน พึ่งตนเองมากเกินควร
อย่างไรก็ตาม เราสามารถช่วยเหลือเด็กที่ถูกกระทำได้ เพื่อไม่ให้เขามีบาดแผลในใจติดตัวไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ คือ
1. เมื่อเด็กกล้าจะเปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง ให้แยกเด็กและทำให้การทารุณกรรมนั้นหยุดลง
2. ฟื้นฟูสภาพจิตใจและร่างกายของเด็ก
3. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับผู้เลี้ยงดูที่รักเขาและต้องการช่วยเหลือให้เกิดขึ้นอีกครั้ง
4. อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยจากการถูกทารุณกรรมแน่นอน ป้องกันการถูกทารุณกรรมซ้ำ
ทำไมเด็กบางรายถึงแม้ชีวิตจะประสบปัญหาแต่ก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคมาได้ เราพบว่าปัจจัยที่ทำให้เด็กเป็นเช่นนั้น คือ มักมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่งและรู้สึกว่าตนเองถูกรักและมีค่า มีเพื่อนและการช่วยเหลือทางสังคมที่ดี ร่วมกับมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่มีมาตรการช่วยเหลือเด็กที่ถูกทารุณกรรมทั้งร่างกายและจิตใจ จะเห็นว่า หากเด็กถูกทำร้ายจิตใจตั้งแต่ในวัยเด็ก บาดแผลนี้จะคงอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่ได้และอาจแสดงออกมาในด้านการควบคุมอารมณ์หรือความก้าวร้าวรุนแรง การถูกทำร้ายทางจิตใจอาจเป็นได้ตั้งแต่ การที่เด็กรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า ไม่สมควรถูกรัก หรือมีการสื่อสารที่สับสนในครอบครัว (บางครั้งก็ถูกปฏิเสธ บางครั้งก็ได้รับการยอมรับในพฤติกรรมเดียวกัน)
ดังนั้นพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเป็นบุคคลที่สำคัญที่จะช่วยให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ จัดการกับปัญหาในชีวิตได้อย่างเหมาะสมต่อไป
อ้างอิงบางส่วนจาก
1. ตำราจิตเวชเด็กและวัยรุ่น. กรุงเทพมหานคร: บริษัท บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์.2550.
2. www.healingtheinsidechild.com/)
วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 12:30 น. —