เข้าใจระบบประสาทสัมผัส แหล่งการเรียนรู้ของเด็กเล็ก
สวัสดีปีใหม่ค่ะ (ทั้งปีใหม่ไทยและจีนนะค่ะ) ผู้เขียนหายไปนานจากตอนที่ 1 หวังว่าท่านผู้อ่านคงยังพอจะจำกันได้ แต่ขอทบทวนเล็กน้อยสำหรับผู้ที่เพิ่งเข้ามาชม website ของชมรมฯค่ะ เนื่องจากเดือน เมย ปีที่แล้ว ดิฉันได้มีโอกาสไปดูงานเกี่ยวกับการเล่นบำบัดในเด็กเล็ก คืออายุน้อยกว่า 5 ปี ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ยากและท้าทายมากสำหรับผู้บำบัด เนื่องจากเด็กในวัยนี้ยังอยู่ในช่วงที่ภาษาพูดกำลังพัฒนารวมถึงการเล่นแบบมีจินตนาการยังทำได้ไม่เต็มที่ ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือการที่เด็กวัยนี้คิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง อย่างไรก็ตาม ผู้บรรยายซึ่งเป็นนักจิตวิทยาจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้อธิบายวิธีการที่จะเข้าใจธรรมชาติของเด็กแต่ละคนอย่างง่ายๆ หนึ่งในนั้นก็คือ การเข้าใจประสบการณ์ทางด้านประสาทสัมผัสที่แตกต่างกันของเด็กแต่ละคน
ทุกท่านคงทราบแล้วว่า ระบบประสาทสัมผัสหรือการรับความรู้สึกของคนเรานั้น ประกอบด้วย การมองเห็น การได้ยิน การรับรส การสัมผัส และการดมกลิ่น แต่หลายท่านอาจจะคิดว่ามีเพียงแค่นี้ เปล่าเลยค่ะ จริงๆแล้ว มีอีก ซึ่งผู้เขียนจะกล่าวต่อไปนะค่ะ
แล้วประสบการณ์ทางด้านระบบประสาทสัมผัสของเด็กมีประโยชน์ต่อเราอย่างไร??
มีแน่นอนค่ะ เพราะเราสามารถประเมินเด็กจากพฤติกรรมที่แสดงออกเวลาที่เจอสิ่งเร้าเข้ามา เช่น เด็กถอยหนีหรือเข้าหาสิ่งเร้านั้น และ …
1. ช่วยให้เราเข้าใจโลกของเรามากขึ้น เปรียบเสมือน input
2. ช่วยให้เราประมวลผลสิ่งที่รับรู้เข้ามา
3. ช่วยให้เรารู้ว่าควรจะตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้นๆอย่างไร เปรียบเสมือน output
ทำไมระบบประสาทสัมผัสของเราไม่ได้มีแค่ 5 ทาง
ค่ะ จริงๆมีมากกว่านั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ แบ่งตามการรับข้อมูลเข้ามาว่ามาจากภายนอกร่างกายหรือที่เรียกว่า far-side senses หรือ ภายในร่างกาย ที่เรียกว่า near-side senses
- Far side sensory system ประกอบด้วย 5 ทางที่ทุกท่านทราบดีค่ะ คือ ตา หู จมูก ปาก ผิวหนัง
- Near side sensory system เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกาย ดังนั้นหลายท่านจึงไม่รู้ว่าระบบเหล่านี้มีอยู่ ได้แก่ การสัมผัส, การทรงตัว และการรับความรู้สึกทางกล้ามเนื้อ เอ็นและข้อต่อต่างๆ
เมื่อสมองได้ทำการประมวลข้อมูลที่รับมาจากสิ่งเร้าต่างๆ ก็จะส่งผลออกมาในแง่ทักษะต่างๆ ของเด็ก ได้แก่ ภาษา, การเล่น, ความสัมพันธ์ระหว่างมือ-สายตา, ทักษะทางกล้ามเนื้อ, การทรงตัว, สมาธิ, การจัดระบบต่างๆ, การเรียนและความมั่นใจในตนเอง
Near-side senses มี 3 ระบบค่ะ
1) Tactile system เป็นระบบประสาทแรกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ขณะเด็กอยู่ในท้องแม่ค่ะ
รับข้อมูลจาก: ผิวหนัง
ข้อมูลเกี่ยวกับ: แรงกด, แรงสั่น, การเคลื่อนไหว, อุณหภูมิ และความเจ็บปวด
ความสำคัญ: มีผลต่อปฏิกิริยาของเราต่อสิงแวดล้อมว่าจะ สู้ (Fight) หรือหนี (Flight)
การที่ระบบนี้สัมพันธ์กับการทำงานของสมองค่อนข้างมาก จึงมีผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมของคนเราด้วยค่ะ
หน้าที่: มี 2 อย่างได้แก่
1.1) ระบบป้องกัน (Protective abilities) ทำให้คนเรามีชีวิตรอดจากอันตรายต่างๆได้ ดังนั้นมักเกี่ยวข้องกับ ความเจ็บปวด, อุณหภูมิ และ การจับแรงๆ
1.2) ระบบแยกแยะ (Discriminative abilities) ทำให้เรารู้ว่าเราสัมผัสอะไร เอาส่วนไหนของร่างกายไปสัมผัส มักเกี่ยวข้องกับ แรงสั่น, แรงกด, การรับรู้ของข้อต่อต่างๆ, การจับเบาๆ และพฤติกรรมที่ปรับเปลี่ยนไป
ทั้ง 2 หน้าที่ต้องทำงานอย่างสมดุลกัน เด็กจึงจะประมวลผลได้อย่างเหมาะสม
* เด็กที่มีความยาลำบากในระบบนี้ (tactile difficulties) จะไม่ชอบการถูกตัวเบาๆ (light touch) แต่ชอบการกอดแน่นๆ (deep pressure) ดังนั้นแม้แต่เด็กที่ไม่ชอบให้โดนตัว ไปสะกิดก็ยิ่งหงุดหงิด เราอาจต้องใช้การสัมผัสแบบมีน้ำหนักมือบ้าง ตัวอย่างเด็กกลุ่มนี้อาจมาด้วยพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่มีสาเหตุ หรือสังเกตจากเด็กพวกนี้ชอบเล่นชนกัน หรือเล่นมวยปล้ำ
อย่างไรก็ตามในทางกลับกัน ถ้าเด็กไวต่อระบบนี้ (tactile sensitivities) การเล่นชนตัวกัน เด็กจะเจ็บ ดังนั้นชอบยืนอยู่แถวหลังสุดจะได้ไม่ถูกจับตัว ชอบให้มีช่องว่างระหว่างคนมากๆ ซึ่งอาจเป็นไปได้ เช่น บางครั้งเด็กมาด้วยพฤติกรรมชอบต่อยเด็กอื่น เพื่อให้มีพื้นที่ของตัวเอง หรือในเด็กทารกที่มีปัญหานี้ อาจไม่ชอบเปลี่ยนผ้าอ้อม เนื่องจากถูกับผิวเวลาถอด ตัวอย่างกรณีอื่นๆ เช่น ไม่ชอบหวีผม ล้างหน้า แปรงฟัน , ชอบเนื้อผ้าบางอย่าง, มักชอบผ้าฝ้ายหรือใส่แต่ชุดเดิม ฯลฯ
2) Vestibular system หรือระบบการทรงตัวของร่างกาย
รับข้อมูลจาก: หูชั้นใน (ตรวจจับการเคลื่อนไหว, แรงโน้มถ่วง และตำแหน่งของศีรษะ) และอาศัยส่วนของคอ, สายตาและร่างกาย
ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ: การทรงตัว, กะระยะหรือทิศทาง และ การเคลื่อนไหวและความเร็วของการเคลื่อนไหว
ความสำคัญ: ทำให้เรารู้ว่าเรามีความสัมพันธ์อย่างไรกับโลกใบนี้ รู้ว่าซ้ายหรือขวา ตั้งขึ้นหรือคว่ำลง แนวนอน แนวขวาง เป็นต้น
* เด็กที่มีความยากลำบากในระบบนี้ (vestibular difficulties) จะระวังการเคลื่อนไหวมาก พอโตเป็นวัยรุ่นจะนั่งแบบกึ่งนอน ไม่ชอบโยก เวลาไปสวนสนุกจะไม่ชอบเครื่องเล่นที่แกว่งไกว หรือ roller-coaster
ระบบการทรงตัว ทำงานร่วมกับ การมองเห็น (visual system), แรงกล้ามเนื้อ (motor system)
3) Proprioceptive system หรือระบบการรับความรู้สึกทางกล้ามเนื้อ เอ็นและข้อต่อ
รับข้อมูลจาก: ข้อต่อต่างๆของร่างกาย
ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ: ตำแหน่งของส่วนต่างๆของร่างกาย
ความสำคัญ: ทำให้รู้ว่าเราจะเคลื่อนไหวร่างกายหรือควบคุมกล้ามเนื้อของเราอย่างไร ส่งข้อมูลไปบอกสมองว่าเราจะขยับข้อต่อต่างๆอย่างไร เช่น ถือขวดน้ำยังไงไม่ให้ตก, จะปีนบันไดยังไง เป็นต้น
* เด็กที่มีความยากลำบากในระบบนี้ จะมีปัญหาต่างๆ ดังนี้
- เดินแบบแข็งๆ หรือ ไม่สัมพันธ์กัน
- งุ่มง่าม และมักเดินชนสิ่งของต่างๆ
- ชอบให้กอดแน่นๆหรือห่มผ้าห่มหนาๆ ทักคนอื่นแรงๆ
- เดินขึ้นลงบันไดหรือลุกนั่งจากเก้าอี้อย่างไม่คล่องตัว เช่น เด็กที่เดินลงเท้าแรงๆ เพื่อเตือนตนเองว่า เดินถึงไหนแล้ว
- ไม่สามารถกะน้ำหนักมือที่ควรจับได้ถูกต้อง เช่น ถือแก้วกระดาษแรงไปจนกลายเป็นบีบ, อาจเขียนลงเส้นหนักๆเบาๆ
Far side senses ที่สำคัญ ได้แก่
4) Visual-perceptual
รับข้อมูลจาก: ตา
ข้อมูลเกี่ยวกับ: สี, การตัดกันของสี (contrast), รูปทรง (shape) ฯลฯ
ความสำคัญ: มิติสัมพันธ์, ทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็ก (fine motor skills) เช่น การเขียน หรือ การอ่าน
ระบบนี้ช่วยในการตัดสินใจว่าจะให้หรือไม่ให้ความสนใจกับสิ่งที่มองเห็น และมีผลกับพฤติกรรมที่แสดงออกมา ดังนั้นจะเห็นว่าระบบนี้สัมพันธ์กับภาวะบกพร่องทางการอ่านหรือ reading difficulties จึงอาจตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆได้หรือสงสัยในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้
-ในเด็กเล็กไม่ชอบสัตว์ เนื่องจากเคลื่อนไหวเร็ว ไม่รู้อยู่ไหน
-อาจตกใจเวลาใครเข้ามาหาเร็วๆ
-ไม่ชอบเล่นบอล เนื่องจากกะจังหวะรับไม่ถูก
-เวลาวิ่งๆเจอหิน จะหยุดก่อนแล้วค่อยกระโดด แล้ววิ่งต่อ
* เด็กที่มีความยากลำบากในระบบนี้ (Visual hypersensitive) จะพยายามมองหาสิ่งเร้าทางตา และมีพฤติกรรมเปิดปิดสวิตช์ไฟ, มองการเคลื่อนไหวที่ซ้ำๆ เช่น เปิดหนังสือ, เปิดปิดประตู, ดูพัดลมหมุน, เรียงของ หรือมองของแบบตาเอียงหรือมองในมุมที่ต่างออกไป
ในทางกลับกันเด็กที่มีความไวต่อสิ่งเร้าทางตา (Visual hypersensitive) อาจดูเหมือนตาเข หรือมองด้วยหางตา หรือ มองผ่านมือและพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าทางตา เช่น แสง นอกจากนั้นเด็กอาจพยายามจ้องดูของเล่นใกล้ๆหรือหมุนๆวัตถุใกล้ๆสายตา เป็นต้น หรือในบางคน อาจมึนงง เวลาเปลี่ยนลายพื้นหรือบันได ดูงุ่มง่ามและเดินชนสิ่งต่างๆ, เด็กบางคนอาจไม่เห็นเพื่อน เลยเดินชนหรือเดินข้ามเพื่อน แต่ในขณะเดียวกัน เด็กอาจชอบดูไฟ, พัดลมติดเพดาน หรือเงาบนพื้น
5) Auditory processing คือระบบการรับเสียงและกลั่นกรองสิ่งที่ได้ยิน
รับข้อมูลจาก: หูชั้นนอกและชั้นกลาง
ข้อมูลเกี่ยวกับ: เสียง ในแง่ความดัง, ความถี่ และจังหวะ
* เด็กที่มีความยากลำบากในระบบนี้ (Auditory hyposensitivities) จะดูเหมือนไม่ฟังเวลาคนคุยแต่ชอบฟังเพลงหรือเสียงบางอย่างเท่านั้น ชอบของเล่นที่มีเสียง
ในทางกลับกันเด็กที่มีความไวต่อสิ่งเร้าทางเสียง (Auditory hypersensitive) อาจเอามือปิดหูเพื่อไม่ให้ได้ยินเสียง ร้องไห้เวลาได้ยินเสียงบางอย่าง เช่น เครื่องดูดฝุ่น, ที่เป่าผม เป็นต้น ชอบให้คนพูดด้วยเสียงนุ่มนวล เบาๆ ไม่ชอบให้ใครมาตะโกนหรือพูดเสียงดังใส่
6) The olfactory and gustatory senses การรับความรู้สึกทางลิ้นและจมูก (รสและกลิ่น)
พบว่า ร้อยละ 80 ของรสชาติมาจากกลิ่นร่วมด้วย
* เด็กที่มีความยากลำบากในระบบนี้ (Hyposensitive) จะชอบอาหารที่มีรสจัด หรือติดสำรวจสิ่งของโดยการเลียหรือดม หรืออาจกินของที่กินไม่ได้
ส่วนเด็กที่มีความไวเกิน (Hypersenstive) อาจจะชอบอาหารจืดๆ หรือไม่ชอบกลิ่นน้ำหอมหรือเป็นเด็กกินยาก
การให้ความช่วยเหลือเด็กกลุ่มที่มีความผิดปกติในระบบรับความรู้สึกเหล่านี้ก็คือ การที่เราวางแผนกิจกรรมต่างๆให้เน้น ระบบประสาทรับความรู้สึกที่เด็กมีปัญหา
องค์ประกอบหลัก ได้แก่
- Calming strategies: ช่วยผ่อนคลายระบบประสาทและลดความแรงของสิ่งเร้าที่เข้ามา
- Organizing strategies: ช่วยให้มีสมาธิ, ตื่นตัวและสนใจมากขึ้น
- Activating strategies: ช่วยให้มีสมาธิ และสนใจมากขึ้น
สรุป การที่เราเข้าใจระบบประสาทที่สำคัญของเด็ก จะทำให้เราเข้าใจที่มาที่ไปของพฤติกรรมบางด้าน ของเด็ก และแน่นอนว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเป็นผู้ที่รู้จักเด็กมากที่สุด ดังนั้นผู้เขียน ยังคงยืนยันเช่นเดิมว่า ผู้ที่จะฝึกและให้ความช่วยเหลือแก่เด็กได้ดีที่สุด คือ ผู้เลี้ยงดูเด็ก นั่นเอง ภายใต้บรรยากาศแห่งความรัก ความอบอุ่นของครอบครัว
อ้างอิงจาก Schaefer CE, Kelly-Zion S, McCormick J and Ohnogi A., Eds. 2008. Play therapy for very young children. New York, Jason Aronson.
วันพุธที่ 3 มีนาคม 2553 เวลา 18:30 น. —