กรุณารอสักครู่...

บทความวิชาการ

ข้อมูลวิชาการที่เป็นประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการ การเจริญเติบโต และปัญหาทางพฤติกรรมของเด็ก และวัยรุ่นไทยในวัยต่างๆ

เทคโนโลยีสารสนเทศกับงานพัฒนาการเด็ก (1)

สวัสดีครับ พี่น้องกุมารแพทย์ และผู้ที่ทำงานหรือสนใจงานพัฒนาการเด็กทุกท่าน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราได้เจอกัน ในบทความนี้ อย่างที่ทุกท่านทราบดีนะครับว่าปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศหรือ IT แทบจะเรียกได้ว่าแทรกซึมไปทั่วทุกอณูของประชากรโลกจนเกือบเป็นปัจจัย ที่ 5 หรือที่ 6 ในการดำเนินชีวิตก็ว่าได้ หลายๆครั้งเรามองว่า IT ทำให้เกิดปัญหาต่อเด็กที่เราดูแล ได้แก่ ทำให้เกิดปัญหาเด็กติดเกม online หรือใช้เวลาอยู่กับเทคโลโลยีมากเกินไปไม่สนใจสังคม แต่เหรียญมีสองด้านฉันใด การแทรกซึมของ IT ก็อาจมีประโยชน์ต่อเราบ้างฉันนั้น บทความนี้จะพูดถึงประโยชน์ของ IT ในแง่ของการเป็น Intervention เพื่อช่วยส่งเสริมทักษะบางด้านในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะที่เกี่ยวกับการเรียนครับ

แต่ก่อนเริ่มคุยกัน ขอเน้นว่าการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศใดๆ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมที่เราเชื่อว่ามีประโยชน์เพียงใด เด็กๆควรต้องใช้ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่เสมอ

ประเดิมบทความแรกนี้เราจะเริ่มกันที่การแนะนำ application ใน android ที่เหมาะสมในการให้ Intervention เด็กที่มีปัญหาทักษะการอ่านบกพร่อง โดยเฉพาะที่สังเกตเห็นในช่วงแรกๆที่เริ่มเรียน อย่างที่เราทราบดีว่าเด็กกลุ่มนี้มีปัญหาในการฟังและแยกแยะเสียง(Phonological awareness weakness) Intervention ที่จะมีประโยชน์ในกรณีเด็กที่ยังแยกแยะเสียงไม่ได้นั้นก็คือการฝึกให้เด็กรู้จักการแยกแยะเสียงนั้นเอง หลายๆท่านที่ดูแลเด็กกลุ่มนี้อาจประสบปัญหาว่า เมื่อแนะนำผู้ปกครองไปผู้ปกครองอาจยังไม่เข้าใจเนื่องจากในประเทศไทยก็ไม่ได้มีการเรียนการสอนให้เด็กแยกแยะเสียงได้ตั้งแต่แรก มักเน้นการเรียนเรื่องตัวอักษรมาก่อน แต่ด้วยความก้าวหน้าทาง IT ทำให้เราสามารถให้เด็กเรียนรู้เรื่องการแยกแยะเสียงนี้ผ่าน application ใน smart phone ระบบ android ซึ่งเป็นการให้เด็กเรียนรู้เรื่องนี้ผ่านเกมหลายเกมที่สนุกสนานมาก application นี้มีชื่อว่า GraphoGame ครับ

GraphoGame เป็นเกมที่ทำให้เด็กรู้เรื่องเสียงของคำ และตัวอักษร ถูกพัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัย Jyväskylä ประเทศฟินแลนด์ และต่อมาได้ขยายมาใช้ในอังกฤษ และหลายๆประเทศในยุโรปด้วย โดยใน GraphoGame นี้จะแบ่งย่อยเป็นหลายเกม และหลายระดับ ซึ่งในเบื้องต้นจะทำให้เด็กเริ่มเรียนรู้เรื่องเสียงของตัวอักษรก่อน ต่อมาก็เริ่มเป็นคำและค่อยๆเป็นหน่วยที่ใหญ่ขึ้นเป็นคำหลายๆคำ ซึ่งเป็นไปตามหลักการในการสอนเด็กให้มี Phonological awareness ครับ

นอกจากถูกต้องตามหลักการแล้ว GraphoGame ยัง มีความสนุกสนานเหมาะกับเด็กเนื่องจากให้เด็กเรียนรู้ผ่านเกม ยกตัวอย่างเกมที่มีการศึกษามากได้แก่ ladders game ครับ เริ่มต้นเด็กจะได้เล่นเป็นสัตว์ประหลาดน่ารัก 1 ตัว หลังจากเด็กได้ยินเสียงจากเกมแล้ว เด็กจะต้องเลือกไต่ไปตามบันไดที่มีอักษรที่ตรงกับเสียงกำกับอยู่ หากเด็กเลือกถูกก็จะได้ไต่บันไดขึ้นไป 1 ขั้น และได้ฟังเสียงใหม่หากถูกต้องอีกก็จะได้ไต่บันไดขึ้นไปเรื่อยๆจนได้เคาะระฆังเป็นอันผ่านด่าน แต่หากตอบผิดก็ถูกลดระดับลงมา แล้วค่อยเลือกใหม่เรื่อยๆ ดังนั้นหากเด็กเลือกผิดบ่อยๆ ก็จะได้รับการฝึกซ้ำในตัวที่มักผิด มีแรงจูงในให้ฝึกโดยการผ่านไปเล่นยังด่านต่อไปซึ่งยังมีเกมอีกหลายเกมเช่น แข่งรถ ยิงเป้า(ตัวอักษร) เป็นต้นซึ่งล้วนแล้วแต่สนุกสนานเหมาะกับเด็กทั้งสิ้น

กุมารแพทย์หรือคนที่ทำงานกับเด็กช่วงอนุบาลต่อชั้นประถมต้นสามารถลอง download มาเล่นดูก่อนที่จะแนะนำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง download มาให้เด็กฝึกได้นะครับ แต่ข้อจำกัดคือยังไม่มีภาษาไทยนะครับ และเป็น version ที่อาจฟังยากเล็กน้อย เนื่องจากแม้เป็นภาษาอังกฤษแต่ application ที่ download ได้ฟรีผู้ผลิตมีวัตถุประสงค์ในการทำให้ประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก เช่น แอฟริกา เป็นต้น แต่จากการที่ผู้เขียนลองเล่นดูก็พบว่าน่าจะเป็นการฝึกให้เด็กได้เข้าใจและฝึกสังเกตตัวอักษรได้ดีเหมือนกันครับ ท่านสามารถเข้าไป download ได้โดยใช้ smart phone ระบบ android เข้าไปที่ graphogame.com/android%20 แล้วเลือก download ได้ครับ เสียงที่คล้ายคลึงภาษาอังกฤษมากที่สุดจะเป็น file 2032/chinyanjadroid_10 ซึ่งความตั้งใจของผู้พัฒนาคือเป็นการใช้ในภาษา chinyanja ในประเทศแซมเบีย แต่มีระบบภาษาและตัวอักษรคล้ายภาษาอังกฤษ ลองเข้าไป download มาลองเล่น และอาจใช้เป็นไอเดียให้พ่อแม่ลองเล่นกับลูกโดยดัดแปลงเป็นภาษาไทยก็ได้

หากเพื่อนท่านใดมีปัญหาหรือข้อสงสัยสามารถติดต่อผมได้ที่ นพ.เทอดพงศ์ ทองศรีราช หน่วยพัฒนาการเด็กรพ.รามาธิบดี 02-2011772 ครับ เดือนหน้าเราจะแนะนำ IT-based intervention ที่เป็นภาษาไทยบ้าง แล้วคอยติดตามกันนะครับ

ขอบคุณครับ
นพ.เทอดพงศ์ ทองศรีราช