กรุณารอสักครู่...

บทความวิชาการ

ข้อมูลวิชาการที่เป็นประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการ การเจริญเติบโต และปัญหาทางพฤติกรรมของเด็ก และวัยรุ่นไทยในวัยต่างๆ

What is hippotherapy?

  • นพ.ประกาศิต วรรณภาสชัยยง
    แพทย์ประจำบ้านต่อยอดชั้นปีที่ 2 สาขาพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช


    วันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2564 เวลา 18:00 น.

What is hippotherapy?

Hippo เป็นภาษากรีก แปลว่า ม้า
Therapy หมายถึง การบำบัดรักษา

ดังนั้น Hippotherapy คือการใช้ม้าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการรักษา โดยจะเน้นกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาทางกายภาพ เช่น กลุ่มภาวะสมองพิการ (Cerebral palsy; CP) หรือกลุ่มที่มีปัญหาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Hypotonia) ซึ่งการใช้ม้าในการบำบัด เนื่องจาก
1. การเคลื่อนไหวของม้า เป็นลักษณะของการเคลื่อนไหวแบบ3มิติ คือ แบบบนล่าง ซ้ายขวา และหน้าหลัง คล้ายกับการเคลื่อนไหวของกระดูกเชิงกรานของมนุษย์ขณะที่กำลังเดิน และเป็นการเคลื่อนไหวแบบซ้ำ ๆ เป็นจังหวะ ดังนั้นการบำบัดด้วยการขี่ม้า ช่วยทำให้การเดินของเด็กดีขึ้น (gait training) อีกทั้งยังฝึกเรื่องของการทรงตัว (Balance), การจัดท่าทางของร่างกายในการทำกิจกรรมต่าง ๆ (Postural control), และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้ด้วย(1)





การศึกษาปี 2014 ของ Park ES และคณะ(2) ได้นำเด็กที่มีภาวะสมองพิการ หรือ CP อายุ 3-12 ปี จำนวน 34 คน มารักษาด้วย Hippotherapy ระยะเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าเด็กมีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่ดีขึ้น (Gross motor function) และสามารถทำทักษะต่าง ๆ ที่อาศัยการทำงานของกล้ามเนื้อได้ดีขึ้นด้วย ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Kwon JY ปี 2015 และ Sik B ปี 2012 ที่เปรียบเทียบการรักษาเด็กที่มีภาวะสมองพิการด้วย Hippotherapy กับกลุ่มที่ไม่ได้รักษาด้วยวิธีนี้ พบว่า กลุ่มที่ได้ Hippotherapy จะมีพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่ดีกว่า มีทักษะในการใช้การกล้ามเนื้อในการทำกิจวัตรประจำวันได้ดีกว่า และมีความสามารถในการทรงตัวและใช้ร่างกายทั้ง2ซีกทำงานประสานงานกันได้ดีกว่า (Balance coordination)(3, 4)

2. การขี่ม้าและบำบัดบนหลังม้า จะช่วยเปิดประสบการณ์การได้รับการกระตุ้นประสาทสัมผัสทุกระบบ เช่น Proprioceptive sense (การรับรู้ถึงกล้ามเนื้อ เอ็นและข้อต่อ), Vestibular sense (การรักษาสมดุลและการทรงตัว), Tactile sense (การรับสัมผัส), Visual sense (การรับรู้ผ่านการมองเห็น) และ Auditory sense (การรับรู้ทางการได้ยิน) ดังนั้นการขี่ม้าจึงคล้ายกับการรักษาแบบ Sensory integration (SI) ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการรักษาผู้ป่วยออทิสติกที่มีปัญหาเรื่องของความไวต่อการรับประสาทสัมผัส(1)

ในปี 2013 ได้มีการศึกษาของ Ajzenman HF ซึ่งนำ Hippotherapy มาใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยเด็กออทิสติก พบว่าเด็กมีทักษะการช่วยเหลือตัวเองดีขึ้น ทักษะการสื่อสารและทักษะสังคมดีขึ้น(5) และมีการรายงานของ Muslu GK ปี 2011 ที่พบว่าหลังการฝึก Hippotherapy ในเด็กออทิสติก มีพฤติกรรมที่ดีขึ้นด้วย(6) ซึ่งอาจจะอธิบายได้จากการเปิดรับประสาทสัมผัสในระหว่างการขี่ม้า ทำให้เด็กกลุ่มนี้ยอมรับ หรือทนกับการรับสัมผัสที่เคยไม่ชอบก่อนหน้านี้ ได้ดีขึ้น ทำให้อารมณ์และพฤติกรรมดีขึ้นตาม

สำหรับประเทศไทย สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ ได้ทำการเก็บข้อมูลเด็กออทิสติกจำนวน 30 คน ที่ได้รับการทำอาชาบำบัด ปีพ.ศ.2558 พบว่า ทักษะการพูด การใช้ภาษาและการติดต่อสื่อสารดีขึ้น 90%, ทักษะสังคม ดีขึ้น 86%, ด้านประสาทรับความรู้สึกหรือการรับรู้ ดีขึ้น 70% และด้านสุขภาพ ร่างกาย พฤติกรรม ดีขึ้น 86%(7)

จากข้อมูลที่ได้กล่าวไป จะพบว่า Hippotherapy เป็นหนึ่งในการรักษาทางเลือกสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านกายภาพ และกลุ่มออทิสติก แต่อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้ จำเป็นต้องอาศัยผู้บำบัดที่ชำนาญ มีผู้ดูแลประกบทั้งสองข้างของม้าเพื่อความปลอดภัยของเด็ก และคนจูงม้าเพื่อกำหนดทิศทาง อีกทั้งยังต้องมีโปรแกรมการฝึกที่มีมาตรฐานด้วย ดังนั้นหากผู้ปกครองท่านใดที่สนใจการรักษาทางเลือกชนิดนี้ ต้องหาข้อมูลและเลือกสถาบันฝึกที่มีมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดที่บุตรหลานของท่านจะได้รับ

Reference

1. Koca TT, Ataseven H. What is hippotherapy? The indications and effectiveness of hippotherapy. North Clin Istanb. 2015;2(3):247-52.
2. Park ES, Rha DW, Shin JS, Kim S, Jung S. Effects of hippotherapy on gross motor function and functional performance of children with cerebral palsy. Yonsei Med J. 2014;55(6):1736-42.
3. Kwon JY, Chang HJ, Yi SH, Lee JY, Shin HY, Kim YH. Effect of hippotherapy on gross motor function in children with cerebral palsy: a randomized controlled trial. J Altern Complement Med. 2015;21(1):15-21.
4. B. YŞ, C. Ç, N. D, E. D, E. B, Z. A. Is Hyppotherapy Beneficial for Rehabilitation of Children with Cerebral Palsy? Türk Klin J Med Sci. 2012;32:601-8.
5. Ajzenman HF, Standeven JW, Shurtleff TL. Effect of hippotherapy on motor control, adaptive behaviors, and participation in children with autism spectrum disorder: a pilot study. Am J Occup Ther. 2013;67(6):653-63.
6. GK. M, H. C. Animal-Assisted Interventions and Their Practice in Children: Duehyo ED; 2011. 6 p.
7. ขันติธรางกูร จ. อาชาบำบัด. ศิริทองถาวร น, editor. เชียงใหม่: สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข; 2559. Download PDF File คลิกที่นี่