ที่มา
โรคอ้วนในวัยเด็กพบว่ามีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงด้านหัวใจและหลอดเลือด แต่ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าความเสี่ยงนี้จะลดลงหรือไม่ ในคนที่อ้วนหรือมีน้ำหนักเกินขณะที่ยังเป็นเด็ก แต่ไม่อ้วนหรือมีน้ำหนักเกินเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
วิธีการศึกษา
กลุ่มผู้วิจัยนำการศึกษาแบบการศึกษาไปข้างหน้า (Prospective cohort) ที่ได้วัดค่าดัชนีมวลกาย (Body-mass index หรือ BMI) ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ จำนวน 4 การศึกษา ซึ่งติดตามเป็นระยะเวลาโดยเฉลี่ย 23 ปี มาวิเคราะห์ โดยใช้จุดตัดระบุภาวะไขมันเกินในวัยเด็กด้วยเกณฑ์มาตรฐานระหว่างประเทศของ BMI ตามอายุและเพศ และจุดตัดระบุภาวะไขมันเกินในวัยผู้ใหญ่ใช้ค่า BMI มากกว่าเท่ากับ 30
ผลการศึกษา
ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ประกอบด้วยตัวอย่างจำนวน 6,328 คน ในคนที่มีภาวะไขมันเกินเกณฑ์ในวัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่มีภาวะไขมันปกติตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ พบว่ามีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่า 5.4 เท่า มีความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่า 2.7 เท่า มีความเสี่ยงของการมีระดับโคเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล (low-density lipoprotein cholesterol ) เพิ่มขึ้น 1.8 เท่า มีความเสี่ยงต่อการมีระดับโคเลสเตอรอลชนิดเอชดีแอล (high-density lipoprotein cholesterol) ลดลง 2.1 เท่า มีความเสี่ยงต่อการมีระดับไตรกลีเซอร์ไรด์สูงขึ้น 3 เท่า รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อความหนาตัวของเส้นเลือดคาโรติดมากกว่า 1.7 เท่า ส่วนคนที่อ้วนหรือมีน้ำหนักเกินขณะที่ยังเป็นเด็ก แต่ไม่อ้วนหรือมีน้ำหนักเกินเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีความเสี่ยงคล้ายกับคนที่ไม่อ้วนเลยตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่
สรุป
ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนในวัยเด็ก เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเส้นเลือดสูง และความหนาตัวของเส้นเลือดแดงคาโรติด ในวัยผู้ใหญ่ เด็กที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนในวัยเด็ก แต่กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่อ้วน มีความเสี่ยงใกล้เคียงกับคนที่ไม่เคยอ้วนเลย
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ความชุกของปัญหาน้ำหนักเกินเกณฑ์ และโรคอ้วน ในเด็กเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเป็นปัจจัยพยากรณ์อัตราตายที่สูงขึ้น โดยสัมพันธ์กับความเสี่ยงทางด้านหัวใจและหลอดเลือดที่สูงขึ้น ซึ่งมีการพยากรณ์ว่า โรคอ้วนนี้จะเป็นตัวเปลี่ยนแนวโน้มอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดที่กำลังจะลดต่ำลง ให้สวนทางสูงขึ้นอีก
มีข้อมูลมากมายที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างโรคอ้วนและความเสี่ยงทางด้านหัวใจและหลอดเลือดในผู้ใหญ่อ้วน ซึ่งเห็นได้จากปัญหาภาวะความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ข้อมูลในปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนถึงความสัมพันธ์ของดัชนีมวลกายในเด็กกับความเสี่ยงทางด้านหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต โดยที่ไม่ขึ้นกับน้ำหนักขณะเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญในแง่ระบบการดูแลสุขภาพอย่างยิ่ง ถ้าสามารถทราบว่าการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่อ้วนสามารถลดปัจจัยเสี่ยงทางด้านหัวใจและหลอดเลือดได้ หรือจะเป็นในอีกด้านคือ ผลของโรคอ้วน หรือน้ำหนักเกินในวัยเด็กมีผลต่อปัจจัยเสี่ยงทางด้านหัวใจและหลอดเลือด โดยไม่ขึ้นกับน้ำหนักเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
การศึกษานี้วิเคราะห์ข้อมูลจาก การศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงทางด้านหัวใจและหลอดเลือดที่ติดตามข้อมูลตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ จำนวน 4 การศึกษาซึ่งเป็นการศึกษาที่ศึกษาในสหรัฐอเมริกา 2 ชิ้น คือ Bogalusa Heart Study (862 คน) และ Muscatine Study (722 คน) และ ศึกษาในออสเตรเลีย คือ Childhood Determinants of Adult Health (CDAH) study (2,331 คน) และฟินแลนด์ คือ Cardiovascular Risk in Young Finns Study (YFS) (2,640 คน) โดยการศึกษาครั้งนี้ นำข้อมูลการติดตามมาวิเคราะห์ว่าความเสี่ยงที่จะเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง และเส้นเลือดแดงคาโรติดแข็งตัว ซึ่งบ่งชี้จากความหนาตัวที่เพิ่มขึ้นของเส้นเลือดแดงคาโรติด
ความเสี่ยงเหล่านี้ลดลงหรือไม่ในกลุ่มที่มีน้ำหนักเกินในวัยเด็กและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่อ้วน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ยังคงอ้วนจนถึงผู้ใหญ่
วิธีการศึกษา
จัดตั้งคณะกรรมการการศึกษาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดในเด็กระหว่างประเทศ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์เป็นกลุ่มตัวอย่างจากทั้ง 4 การศึกษา ที่มีข้อมูลพื้นฐานตั้งแต่เด็ก และติดตามจนถึงผู้ใหญ่ ผลเลือดของทุกคนเป็นค่าที่ตรวจเมื่อได้อดอาหาร
คำจำกัดความของภาวะน้ำหนักเกิน และอ้วนในเด็ก (อายุ 3 – 18 ปี) ใช้เกณฑ์เปอร์เซนไทล์ของดัชนีมวลกายที่เฉพาะกับอายุ และเพศนั้นๆ ที่สอดคล้องกับเกณฑ์เปอร์เซนไทล์ของดัชนีมวลกายในผู้ใหญ่ที่ 25 คือภาวะน้ำหนักเกิน และ ที่ 30 คือภาวะอ้วน เมื่อใช้คำจำกัดความนี้พบเด็กที่มีน้ำหนักเกินร้อยละ 12.2 เด็กอ้วนร้อยละ 2.3 ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินร้อยละ 54.9 และผู้ใหญ่อ้วนร้อยละ 20.7
จัดกลุ่มตัวอย่างเป็น 4 กลุ่ม เพื่อนำผลมาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่น้ำหนักปกติในวัยเด็ก และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่อ้วน กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่น้ำหนักเกินหรืออ้วนในวัยเด็ก แต่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่อ้วน กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่น้ำหนักเกินหรืออ้วนในวัยเด็ก และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มที่น้ำหนักปกติในวัยเด็ก แต่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน
ผลลัพธ์ของการศึกษาคือปัจจัยเสี่ยงด้านหัวใจและหลอดเลือด ประกอบไปด้วย เบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งหมายถึงระดับน้ำตาลเมื่ออดอาหารมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือมีประวัติการใช้ยาเบาหวาน โดยที่ไม่มีประวัติเบาหวานชนิดที่ 1 หรือมีประวัติได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ภาวะความดันโลหิตสูง หมายถึงความดันตัวบนมากกว่าหรือเท่ากับ 140 หรือความดันตัวล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มิลลิเมตรปรอทหรือมีประวัติการใช้ยาลดความดัน ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติหรือสูง หมายถึงมีระดับโคเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล (low-density lipoprotein) มากกว่าหรือเท่ากับ 160 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ระดับโคเลสเตอรอลชนิดเอชดีแอล (high-density lipoprotein) น้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และระดับไตรกลีเซอไรด์ มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือมีประวัติการใช้ยาลดไขมันเพื่อลดโคเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล ความเสี่ยงของความหนาตัวของเส้นเลือดแดงคาโรติด ถ้าหนามากกว่าหรือเท่ากับเปอร์เซ็นไทล์ที่ 90 เมื่อเทียบกับอายุ เพศ เชื้อชาติ ปีที่ศึกษา และกลุ่มตัวอย่างนั้นๆ
ผลลัพธ์
กลุ่มตัวอย่างมีทั้งสิ้น 6,328 คน เป็นเพศชาย 2,961 คน และเพศหญิง 3,367 คน อายุเฉลี่ยเมื่อแรกเข้าการศึกษาคือ 11.4 ±4.0 ปี ระยะเวลาการติดตามเฉลี่ย 23.1±3.3 ปี ในคนที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนในวัยเด็ก พบว่าโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนร้อยละ 64.6 ถ้าเฉพาะคนที่อ้วนในวัยเด็ก พบว่าโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนร้อยละ 82.3 เมื่อแบ่งกลุ่มตามภาวะไขมันข้างต้น กลุ่มที่ 1 มีจำนวน 4,742 คน กลุ่มที่ 2 มีจำนวน 274 คน กลุ่มที่ 3 มีจำนวน 500 คน และกลุ่มที่ 4 มีจำนวน 812 คน
ความสัมพันธ์ของภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนในวัยเด็กกับปัจจัยเสี่ยงในวัยผู้ใหญ่ เมื่อวิเคราะห์แต่ละการศึกษาพบว่า ทุกการศึกษามีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับภาวะความดันโลหิตสูง และภาวะเสี่ยงไขมันไตรกลีเซอไรด์ ในการศึกษาของสหรัฐอเมริกา Bogalusa Heart Study และ Muscatine Study และฟินแลนด์ คือ YFS พบว่าภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนในวัยเด็ก มีความสัมพันธ์กับเบาหวานชนิดที่ 2 ภาวะเสี่ยงของระดับโคเลสเตอรอลชนิดเอชดีแอล ส่วนในการศึกษา Bogalusa Heart Study และ CDAH study พบความสัมพันธ์กับภาวะเสี่ยงของระดับโคเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล และในการศึกษา Bogalusa Heart Study และ YFS พบว่าภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนในวัยเด็ก มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของความหนาตัวของเส้นเลือดแดงคาโรติด เมื่อนำข้อมูลทุกการศึกษามาวิเคราะห์รวมพบว่า ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนในวัยเด็ก มีความสัมพันธ์กับทุกปัจจัยเสี่ยง
ผลของโรคอ้วนในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ต่อความเสี่ยงด้านหัวใจและหลอดเลือด พบว่ากลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มที่น้ำหนักเกินหรืออ้วนในเด็ก แต่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่อ้วน มีความเสี่ยงไม่ต่างกับกลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มที่น้ำหนักปกติตั้งแต่เด็ก จนเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งต่างกับกลุ่มที่อ้วนในวัยผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะน้ำหนักเกินหรือปกติในวัยเด็ก (กลุ่มที่ 3 และ 4) ที่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับปัจจัยเสี่ยงที่นำมาวิเคราะห์ทุกปัจจัย และมีความเสี่ยงสูงกว่าในกลุ่มที่ 2 มาก
เพื่อประเมินผลของโรคอ้วนในวัยเด็กที่มีต่อความเสี่ยงด้านหัวใจและหลอดเลือดเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ โดยนำข้อมูลของกลุ่ม 3 ซึ่งเป็นกลุ่มที่น้ำหนักเกินหรืออ้วนในวัยเด็ก และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน มาเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ 4 ซึ่งเป็นกลุ่มที่น้ำหนักปกติในวัยเด็ก แต่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน พบว่า ความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงเท่านั้นที่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยกลุ่มที่น้ำหนักเกินหรืออ้วนในวัยเด็ก สูงกว่ากลุ่มที่น้ำหนักปกติในวัยเด็ก
อภิปราย
ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนในวัยเด็กมีผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพ โดยมีข้อมูลสนับสนุนมากมายว่าสัมพันธ์กับการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และปัจจัยเสี่ยงด้านหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งยังสัมพันธ์กับภาวะอ้วนในวัยผู้ใหญ่ด้วย ข้อมูลจากการศึกษาครั้งนี้ ยืนยันความสัมพันธ์ดังกล่าว และพบว่าการลดลงของโรคอ้วนในวัยเด็กเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ช่วยลดความเสี่ยงต่อเบาหวานชนิดที่ 2 ภาวะความดันโลหิตสูง และภาวะไขมันในเส้นเลือดสูง เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ใหญ่ที่อ้วนไม่ว่าวัยเด็กจะอ้วนหรือไม่ กับผู้ใหญ่ที่น้ำหนักปกติและมีประวัติน้ำหนักเกินหรืออ้วนในวัยเด็ก พบว่าความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 สูงกว่า 4 เท่า และความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง สูงกว่า 2-3 เท่า ในการวิเคราะห์ผลของโรคอ้วนในวัยเด็กต่อความเสี่ยงด้านหัวใจและหลอดเลือด เมื่อนำปัจจัยโรคอ้วนในวัยผู้ใหญ่มาวิเคราะห์ร่วมพบว่า ปัจจัยต่างๆ ลดความสำคัญลง เหลือเพียงโรคอ้วนในวัยเด็กกับภาวะความดันโลหิตสูงที่ยังคงมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งชี้บ่งว่าโรคอ้วนในวัยเด็กมีผลต่อเนื่องต่อภาวะความดันโลหิตสูงในวัยผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตามการลดลงของโรคอ้วนจากวัยเด็กถึงวัยผู้ใหญ่ สัมพันธ์กับการลดลงของความเสี่ยงด้านหัวใจและหลอดเลือด ถ้าสมมุติฐานที่ตั้งไว้เป็นจริงว่าการลดลงของโรคอ้วนจากวัยเด็กถึงวัยผู้ใหญ่ สัมพันธ์กับการลดลงของความเสี่ยงด้านหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นแพทย์ควรมีทัศนคติที่ดีต่อการรักษาภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนในเด็ก ที่จะช่วยลดความเสี่ยงเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
ข้อจำกัดของการศึกษานี้ ประกอบด้วย 1) ไม่สามารถนำข้อมูลมาเปรียบเทียบได้ในทุกมิติ เนื่องจากมีความแตกต่างกันระหว่างการศึกษาทั้งสี่ เช่น ตัวแปรเกี่ยวกับช่วงวัยเป็นหนุ่มสาว หรือเศรษฐานะครอบครัว 2) เนื่องจากการติดตามเป็นเพียงระยะวัยผู้ใหญ่ตอนต้น จึงยังไม่สามารถศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของโรคอ้วนกับอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด 3) การศึกษาแบบการสังเกตและบรรยาย มีประเด็นที่เป็นปัจจัยกระทบอื่นๆอยู่บ้าง 4) เนื่องจากการติดตามไม่เป็นลักษณะที่มีข้อมูลต่อเนื่องเพียงพอที่จะระบุดัชนีมวลกายที่เป็นปกติ 5) การใช้ดัชนีมวลกายมาเป็นตัวบ่งชี้โรคอ้วนอาจจะไม่ใช่ข้อมูลที่เที่ยงตรงที่สุด เนื่องจากมีผลทั้งจากไขมัน และกล้ามเนื้อ เช่นเดียวกับปัญหาที่ใช้ความหนาของชั้นไขมันมาเป็นตัววัด ประเด็นสุดท้ายคือ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว ดังนั้น ต้องระมัดระวังในการอ้างถึงในกลุ่มคนเชื้อชาติอื่น
กล่าวโดยสรุป การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลของการศึกษาระยะยาวต่างๆ และพบว่าภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนในวัยเด็ก เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเส้นเลือดสูง และความเสี่ยงของความหนาตัวของเส้นเลือดแดงคาโรติด ในวัยผู้ใหญ่ รวมทั้งมีข้อมูลแสดงว่า ในเด็กที่มีน้ำหนักปกติ แต่กลายเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน มีความเสี่ยงด้านหัวใจและหลอดเลือด มากกว่ากลุ่มที่น้ำหนักเกินหรืออ้วนในวัยเด็ก แต่กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่อ้วน ซึ่งความเสี่ยงในกลุ่มหลังนี้ใกล้เคียงกับคนที่ไม่เคยอ้วนเลย
เอกสารอ้างอิง
Juonala M, Magnussen CG, Berenson GS, Venn A, Burns TL, Sabin MA, et al. Childhood adiposity, adult adiposity and cardiovascular risk factors. N Eng J Med 2011;365:1876-85.
วันอังคารที่ 14 มีนาคม 2555 เวลา 17:00 น. —